บันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์กับอาวุธนิวเคลียร์ของเบลารุส ยูเครน และคาซัคสถาน

ภาพรถฐานยิงขีปนาวุธพิสัยกลาง RSD-10 Pioneer ของสหภาพโซเวียต ตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศยูเครน
(George Chernilevsky/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี ค.ศ.1991 สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลมากก็คืออาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียตที่กระจัดกระจายไปอยู่ในประเทศเกิดใหม่นอกเหนือจากรัสเซีย โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆอย่างเบลารุส ยูเครน และคาซัคสถาน ซึ่งได้รับอาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียตตกทอดไปจำนวนมาก โดยเฉพาะยูเครนนั้นเคยเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุดเป็นอันดับสามของโลกเลยทีเดียวเป็นรองแค่สหรัฐฯและรัสเซีย อย่างไรก็ตามแม้จะมีอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมาก แต่ประเทศเหล่านี้ก็ไม่สามารถใช้งานอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่ได้ เพราะรหัสสั่งการอยู่กับรัสเซีย แต่ถ้าปล่อยไว้เฉยๆก็ไม่เป็นผลดี ในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ.1994 ระหว่างการประชุมองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe หรือ OSCE) ที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ชาติมหาอำนาจคือสหรัฐฯ อังกฤษ และรัสเซีย จึงทำบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์เกี่ยวกับการประกันความปลอดภัย (Budapest Memorandum on Security Assurances) กับเบลารุส ยูเครน และคาซัคสถาน ให้สามประเทศนี้ทำลายอาวุธนิวเคลียร์และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ทิ้งไป แลกกับการที่สหรัฐฯ อังกฤษ และรัสเซียจะรับประกันความปลอดภัยให้

การรับประกันความปลอดภัยของเบลารุส ยูเครน และคาซัคสถานที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ประกอบด้วยการที่สหรัฐฯ อังกฤษ และรัสเซียจะให้ความเคารพต่ออำนาจอธิปไตยและเขตแดนของประเทศเหล่านี้ จะไม่ใช้กำลังทหารหรืออาวุธนิวเคลียร์มารุกราน จะไม่ใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจต่อประเทศเหล่านี้ และถ้าประเทศเหล่านี้ถูกรุกราน ชาติมหาอำนาจก็จะให้ความช่วยเหลือผ่านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือ UNSC (ซึ่งทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ และรัสเซียเป็นสมาชิกถาวร)

การที่เบลารุส ยูเครน และคาซัคสถานยอมสละอาวุธนิวเคลียร์ (ที่แม้จะใช้งานไม่ได้ก็ตาม) แลกกับการรับประกันความปลอดภัยจากชาติมหาอำนาจ ส่งผลให้บันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอยู่เสมอ เวลาที่ชาติเหล่านี้ถูกรุกราน ปัญหาก็คือดูเหมือนว่าบันทึกข้อตกลงนี้จะไม่มีผลทางกฎหมายและไม่มีชาติมหาอำนาจประเทศไหนให้ความสนใจบันทึกข้อตกลงนี้มากไปกว่าการเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

ในปี ค.ศ.2013 สหรัฐฯมีมาตรการคว่ำบาตรเบลารุส ซึ่งผิดบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ที่ห้ามไม่ให้ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจมากดดันเบลารุส แต่สหรัฐฯอ้างว่ามาตรการของสหรัฐฯมีความชอบธรรมเพราะมีเป้าหมายไปที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเบลารุส ไม่ได้มีเป้าหมายที่ประชาชนเบลารุส สหรัฐฯยังยึดมั่นในบันทึกข้อตกลงบุดาเปสต์แม้บันทึกข้อตกลงนี้จะไม่มีผลในทางกฎหมาย เป็นการแต่งคำพูดให้ตัวเองดูดี ทั้งที่ความจริงก็คือสหรัฐฯไม่ทำตามบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์เพราะไม่มีผลในทางกฎหมายนั่นเอง อย่างไรก็ตามล่าสุดในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2021 ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก (Alexander Lukashenko) ของเบลารุสก็เปิดเผยว่าแม้เบลารุสจะทำลายอาวุธนิวเคลียร์ทิ้งไปตามบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ แต่ไม่ได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงฐานยิงขีปนาวุธข้ามทวีป RT-2PM Topol ไปพร้อมกันด้วยแต่อย่างใด พร้อมให้รัสเซียนำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาติดตั้งได้ เท่ากับว่าทั้งสหรัฐฯและเบลารุสไม่ได้สนใจบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์เลยตั้งแต่ต้น

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2013 – 2014 เมื่อเกิดวิกฤตยูเครนเริ่มจากการที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) ให้การสนับสนุนกลุ่มนีโอนาซีทำรัฐประหารที่จัตุรัสไมดัน โค่นล้มประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovich) ที่มาจากการเลือกตั้ง นำไปสู่การรวมไครเมียเข้ากับรัสเซีย และการสู้รบในดอนบาส บันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ก็เป็นประเด็นที่รัฐบาลใหม่ของยูเครนและตะวันตกหยิบยกขึ้นมาโจมตีรัสเซียอยู่เสมอ แต่ที่น่าสนใจคือแม้ตะวันตกจะเอาบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์มาโจมตีรัสเซีย แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงนี้ซึ่งตะวันตกก็ยอมรับว่าไม่มีผลในทางกฎหมาย ขณะที่ฝั่งรัสเซียก็ตอบโต้ว่าสหรัฐฯสนับสนุนการรัฐประหารยูเครนละเมิดบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ รัฐบาลใหม่ของยูเครนไม่มีความชอบธรรม และการดำเนินการของรัสเซียเป็นไปตามความต้องการของประชาชนยูเครนที่ต้องการแยกตัว สรุปคือในกรณียูเครน บันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น

กล่าวโดยสรุปบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ ไม่ใช่สนธิสัญญาจึงไม่มีผลทางกฎหมายผูกมัดประเทศที่ร่วมกันลงนามไว้แต่อย่างใด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศล้วนๆเลยว่าจะยึดมั่นในบันทึกข้อตกลงนี้หรือไม่ หรือจะยึดมั่นในโอกาสอะไร ถือเป็นบทเรียนสำหรับประเทศเล็กๆว่าถ้าจะทำข้อตกลงอะไรกับชาติมหาอำนาจต้องทำสนธิสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรให้มีผลผูกมัดทางกฎหมายด้วย แต่ในบางกรณีประเทศเล็กๆก็ไม่มีทางเลือกมากนัก อย่างกรณีนี้ถ้าเบลารุส ยูเครน และคาซัคสถานไม่ยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ ก็อาจถูกชาติมหาอำนาจรวมตัวกันปลดอาวุธนิวเคลียร์อยู่ดี และประเทศเหล่านี้ก็ไม่สามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้ได้แบบเกาหลีเหนือด้วย เพราะไม่มีรหัสสั่งการ มองมุมหนึ่งการได้กระดาษที่ไม่มีผลอะไรในทางกฎหมาย นอกจากใช้โฆษณาชวนเชื่อได้มาแผ่นหนึ่ง ก็ยังดีกว่าการถูกปลดอาวุธนิวเคลียร์แล้วไม่ได้อะไรกลับมาเลย

สวัสดี

22.02.2022

แสดงความคิดเห็น