ยุทโธปกรณ์ของรัสเซียในสงครามยูเครน

สงครามในยูเครนถือเป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดของรัสเซียนับตั้งแต่สงครามเชชเนีย (Chechen War) ใช้กำลังพลมากกว่า 100,000 – 150,000 นายจากมณฑลทหาร 3 แห่งของรัสเซียคือมณฑลทหารภาคตะวันตก (Western Military District), มณฑลทหารภาคใต้ (Southern Military District) และมณฑลทหารภาคตะวันออก (Eastern Military District) เสริมด้วยทหารพลร่ม, สเปซนาซ, กองกำลังเชเชน รวมถึงกองกำลังท้องถิ่นของดอนบาสอีกหลายหมื่นนาย ครอบคลุมพื้นที่ตลอดแนวชายแดนยูเครนทางด้านเหนือติดกับเบลารุส ไล่มาทางตะวันออกจนถึงชายแดนด้านไครเมียทางใต้ มีการใช้ยุทโธปกรณ์จำนวนมากโดยเฉพาะยานเกราะและยานยนต์ชนิดต่างๆ ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักยุทโธปกรณ์บางส่วนที่กองทัพรัสเซียใช้ในยูเครน

รถถัง T-72B รุ่นปี 1989

ภาพรถถัง T-72B รุ่นปี 1989 ของกองทัพรัสเซีย ระหว่างการฝึก วันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.2017
(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)

รถถัง T-72B รุ่นปี 1989 เป็นรถถัง T-72B ที่ได้รับการติดตั้งเกราะปฏิกิริยาระเบิด (ERA) รุ่น Kontakt-5 ซึ่งผ่านการทดสอบในสงครามซีเรียแล้วว่าป้องกันจรวดต่อสู้รถถัง TOW ได้ แทนที่รุ่น Kontakt-1 เดิม ส่งผลให้ระบบป้องกันตัวดีขึ้น แต่รถถังรุ่นนี้ยังไม่มีกล้องจับความร้อน (Thermal sight) ต่างจากรถถัง T-72B3 จึงยังต้องพึ่งพาไฟฉายอินฟราเรดช่วยค้นหาเป้าหมายในการรบเวลากลางคืนอยู่

รถถัง T-80BVM

ภาพรถถัง T-80BVM ของรัสเซียขณะซ้อมสวนสนามวันแห่งชัยชนะ วันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.2018
(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)

รถถัง T-80BVM พัฒนาต่อยอดมาจากรถถัง T-80BV ติดตั้งระบบภายในที่ทันสมัยขึ้นทำนองเดียวกับรถถัง T-72B3 เสริมเกราะ ERA รุ่น Relikt ซึ่งสามารถป้องกันหัวรบ Tandem ได้ ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ ซึ่งมีความเหมาะสมสำหรับพื้นที่เขตหนาวแถบอาร์กติกและไซบีเรียมากกว่าเครื่องยนต์ดีเซล

รถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-82A

ภาพรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-82A ของรัสเซีย ระหว่างการซ้อมสวนสนามวันแห่งชัยชนะที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
(Viktor Karasev/123RF)

รถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-82A พัฒนาต่อยอดมาจากรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR-80A เข้าประจำการในกองทัพรัสเซียเมื่อปี ค.ศ.2011 มีพลประจำรถ 3 นายและบรรทุกทหารได้ 7 นาย ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตรและปืนกลร่วมแกนขนาด 7.62 มิลลิเมตร มีความคล่องตัวในการเคลื่อนที่สูง สามารถเคลื่อนที่ในน้ำได้ มีจุดอ่อนคือเกราะบาง ป้องกันได้เพียงกระสุนปืนเล็กและสะเก็ดระเบิด

รถสายพานลำเลียงพล MT-LB

ภาพรถสายพานลำเลียงพล MT-LB ตั้งแสดงที่ฐานทัพอากาศ Bolling
Credit : DON S. Montgomery, U.S. Navy (Ret.)

รถสายพานลำเลียงพล MT-LB เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตช่วงทศวรรษ 1960 สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์ ทั้งภารกิจลำเลียงพล (บรรทุกทหารได้ 11 นาย), บรรทุกกระสุน, ลากปืนใหญ่ ฯลฯ รวมถึงนำแคร่รถไปต่อยอดเป็นยานเกราะประเภทอื่นๆเช่นปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 122 มิลลิเมตร 2S1 Gvozdika, ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Strela-10 เป็นต้น

รถรบทหารราบ BMP-2

ภาพรถรบทหารราบ BMP-2 สังกัดกองพลน้อยนาวิกโยธินที่ 155 ของรัสเซีย ระหว่างการฝึก วันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.2018
(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)

รถรบทหารราบ BMP-2 เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1980 พัฒนาต่อยอดมาจากรถรบทหารราบ BMP-1 โดยใช้ประสบการณ์จากสงครามอาหรับ-อิสราเอล มีน้ำหนัก 14.3 ตัน ใช้พลประจำรถ 3 นายและบรรทุกทหารได้ 7 นาย ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตร, ปืนกลร่วมแกนขนาด 7.62 มิลลิเมตร และจรวดต่อสู้รถถัง 9K113 Konkurs มีความคล่องตัวสูงและมีคุณสมบัติสะเทินน้ำสะเทินบก แต่ก็แลกมาด้วยการมีเกราะค่อนข้างบาง ป้องกันกระสุนปืนกลหนักขนาด 12.7 มิลลิเมตรได้ ปัจจุบันรัสเซียได้พัฒนารุ่นอัพเกรด BMP-2M Berezhok ซึ่งมีระบบภายในที่ทันสมัยและมีอำนาจการยิงที่สูงขึ้น แต่จากภาพและคลิปวิดีโอเท่าที่เปิดเผยออกมา ดูเหมือนรัสเซียจะยังไม่ได้ส่ง BMP-2M เข้ามาในยูเครนแต่อย่างใด ยังคงใช้รุ่นพื้นฐานจากยุคโซเวียตเป็นส่วนใหญ่

รถรบทหารพลร่ม BMD-2

ภาพรถรบทหารพลร่ม BMD-2 ของรัสเซียระหว่างการซ้อมรบ Zapad-2017
(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)

รถรบทหารพลร่ม BMD-2 เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1985 พัฒนาขึ้นมาทดแทนรถรบทหารพลร่ม BMD-1 ใช้ประสบการณ์จากปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน มีน้ำหนัก 8 ตัน ใช้พลประจำรถ 2 นายและบรรทุกทหารได้ 5 นาย ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตร, ปืนกลขนาด 7.62 มิลลิเมตร และจรวดต่อสู้รถถัง 9K111 Fagot หรือ 9K113 Konkurs มีความคล่องตัวสูง สามารถเคลื่อนที่ในน้ำได้ แต่มีจุดอ่อนคือเกราะบางเพราะมีข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักที่ต้องทิ้งร่มจากเครื่องบินลำเลียง Il-76 ได้ แม้ปัจจุบันรัสเซียจะพัฒนารถรบทหารพลร่มรุ่นใหม่คือ BMD-4M ออกมาแล้วแต่ยังไม่สามารถทดแทนรถรบทหารพลร่มจากยุคโซเวียตได้หมด หน่วยพลร่มรัสเซียส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้งาน BMD-2 อยู่

ปืนใหญ่ลากจูง 2A65 Msta-B

ภาพปืนใหญ่ลากจูงขนาด 152 มิลลิเมตร 2A65 Msta-B ของรัสเซีย ระหว่างการฝึก วันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.2017
(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)

ปืนใหญ่ลากจูงขนาด 152 มิลลิเมตร 2A65 Msta-B เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1987 มีใช้งานแพร่หลายในรัสเซียและประเทศอดีตสหภาพโซเวียตหลายประเทศ มีระยะยิงไกลสุด 28.9 กิโลเมตร อัตราการยิง 5 – 6 นัดต่อนาที การเคลื่อนย้ายที่ตั้งปกติจะใช้รถบรรทุก 6×6 Ural 4320 ในการลากจูง

ปืนใหญ่อัตตาจร 2S19 Msta-S

ภาพปืนใหญ่อัตตาจร 2S19 Msta-S สังกัดกรมทหารราบยานยนต์ที่ 15 พิทักษ์รัฐของรัสเซีย ระหว่างการฝึกวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.2020
(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)

ปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 152 มิลลิเมตร 2S19 Msta-S เข้าประจำการในกองทัพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1989 ใช้แคร่รถของรถถัง T-80 แต่ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องยนต์ดีเซลเหมือนรถถัง T-72 มีน้ำหนัก 42 ตัน ใช้พลประจำรถ 5 นาย มีระยะยิงไกลสุด 28.9 กิโลเมตร และสามารถยิงกระสุนนำวิถี Krasnopol ได้ มีอัตราการยิง 6 – 8 นัดต่อนาที (รุ่นอัพเกรดคือ 2S19M2 มีอัตราการยิงเพิ่มขึ้นเป็น 10 นัดต่อนาที) บรรทุกกระสุน 50 นัด

จรวดหลายลำกล้อง BM-21 Grad

ภาพจรวดหลายลำกล้อง BM-21 Grad ของรัสเซียระหว่างการซ้อมรบในปี ค.ศ.2017
(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)

จรวดหลายลำกล้อง BM-21 Grad เข้าประจำการในกองทัพสหภาพโซเวียตช่วงทศวรรษ 1960 และยังคงถูกใช้งานแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน ใช้ท่อยิงจรวดขนาด 122 มิลลิเมตร 40 ท่อยิงติดตั้งบนแคร่รถบรรทุก Ural เดิมมีระยะยิง 20 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาจรวดรุ่นใหม่ที่มีระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น 40 กิโลเมตร สามารถทำการยิงจรวดทั้ง 40 ลูกภายในเวลาเพียง 20 วินาที ออกแบบมาใช้ยิงปูพรมทำลายเป้าหมายเป็นพื้นที่ การบรรจุจรวดใหม่ใช้ระบบแมนวล ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ในอนาคตรัสเซียมีแผนจะทดแทนจรวดหลายลำกล้อง BM-21 ด้วย Tornado-G

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1

ภาพระบบป้องกันภัยทางอากาศ Pantsir-S1 ของรัสเซีย ในงานแสดงอาวุธ ARMY-2015 วันที่ 18 มิถุนายน 2015
(Igor Dolgov/123rf.com)

Pantsir-S1 หรือชื่อในระบบ NATO คือ SA-22 Greyhound เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศพิสัยใกล้ พัฒนาขึ้นมาทดแทน Tunguska M1 จากยุคโซเวียต มีเขี้ยวเล็บประกอบด้วยจรวดพื้นสู่อากาศ 57E6 ระยะยิง 20 กิโลเมตร จำนวน 12 ลูกและปืนต่อสู้อากาศยาน 2A38M ขนาด 30 มิลลิเมตรจำนวน 2 กระบอก ระยะยิง 4 กิโลเมตร บรรทุกกระสุน 700 นัด เรดาร์มีระยะตรวจจับ 36 กิโลเมตร โดยปกติรัสเซียจะไม่ส่ง Pantsir-S1 ออกปฏิบัติการตามลำพังแต่มักจะจับคู่กับระบบป้องกันภัยทางอากาศอื่นๆเช่น S-400 วางกำลังเป็นเครือข่าย

เฮลิคอปเตอร์โจมตี Ka-52 Alligator

ภาพเฮลิคอปเตอร์โจมตี Ka-52 Alligator ของรัสเซียตั้งแสดงในงาน MAKS-2013
(Doomych/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

เฮลิคอปเตอร์โจมตี Ka-52 Alligator พัฒนาโดยบริษัท Kamov เป็นรุ่นสองที่นั่งของ Ka-50 Black Shark ออกแบบมาสำหรับภารกิจลาดตระเวนและทำลายรถถัง มีจุดเด่นที่ใบพัดหลัก 2 ชั้นหมุนสวนทางกัน ช่วยให้มีความคล่องตัวและความเร็วเพิ่มขึ้น รวมถึงมีระบบดีดตัวสำหรับนักบิน ติดอาวุธอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 30 มิลลิเมตรและมีตำบลติดอาวุธ 6 จุดสำหรับจรวดหลายชนิดทั้งนำวิถีและไม่นำวิถี

เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง Mi-8/Mi-17

ภาพเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง Mi-8MTV-5 ของรัสเซีย ตั้งแสดงในงาน MAKS-2009
(Doomych/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงตระกูล Mi-8 และ Mi-17 (ชื่อในระบบ NATO คือ Hip) ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ยุคโซเวียต ใช้งานได้อเนกประสงค์ทั้งภารกิจลำเลียงพลและสัมภาระ ขนส่งผู้บาดเจ็บ ยกปืนใหญ่ ฯลฯ และสามารถติดอาวุธเช่นกระเปาะจรวดไม่นำวิถี S-8 ได้ด้วย

ทั้งหมดนี้คือยุทโธปกรณ์บางส่วนของกองทัพรัสเซียที่ถูกใช้งานระหว่างปฏิบัติการพิเศษในยูเครน

สวัสดี

09.03.2022

แสดงความคิดเห็น