ขีดความสามารถจรวดต่อสู้รถถัง Skif ของยูเครน

ภาพจรวดต่อสู้รถถัง Skif ของยูเครน
(Bandanschik/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 3.0)

จรวดต่อสู้รถถัง Skif ของยูเครนพัฒนาโดยสำนักออกแบบ Luch ในกรุงเคียฟของยูเครนร่วมกับสำนักออกแบบ Peleng ในกรุงมินสค์ของเบลารุส โดยยูเครนเป็นผู้ผลิตจรวด ส่วนเบลารุสเป็นผู้ผลิตระบบควบคุมการยิง มีลักษณะภายนอกคล้ายจรวดต่อสู้รถถัง 9K113 Konkurs (AT-5 Spandrel) ของสหภาพโซเวียตแต่ทันสมัยกว่ามาก มีความแม่นยำสูง ออกแบบมาใช้ทำลายยานเกราะรวมถึงรถถังที่ติดเกราะปฏิกิริยาระเบิด (ERA) ด้วย

ระบบจรวดต่อสู้รถถัง Skif ประกอบด้วยจรวดขนาด 130 มิลลิเมตร 2 รุ่น (RK-2S และ RK-2OF) หนัก 29.5 กิโลกรัมหรือจรวดขนาด 152 มิลลิเมตร 2 รุ่น (RK-2M-K และ RK-2M-OF) หนัก 38 กิโลกรัม, ขาหยั่งหนัก 32 กิโลกรัม, ระบบนำวิถีหนัก 15 กิโลกรัม, กล้องจับความร้อนสำหรับใช้ในเวลากลางคืนหนัก 6 กิโลกรัม และแผงควบคุมหนัก 10 กิโลกรัม มีระยะยิงไกลสุด 5 กิโลเมตร (3 กิโลเมตรในเวลากลางคืน) จรวดรุ่น RK-2S และ RK-2M-K ใช้หัวรบ Tandem HEAT สามารถเจาะเกราะ ERA และเกราะเหล็กกล้าหนา 800 และ 1,100 มิลลิเมตรตามลำดับ สามารถทำลายรถถังในปัจจุบันได้เกือบทุกรุ่น

ชุดยิงจรวดต่อสู้รถถัง Skif จะมีกำลังพลประมาณ 3 – 4 นาย นายหนึ่งแบกแผงควบคุม อีกนายหนึ่งแบกระบบนำวิถีและกล้องจับความร้อน ส่วนขาหยั่งจะแชร์ชิ้นส่วนกัน กำลังพลที่เหลือทำหน้าที่แบกจรวด

จุดเด่นของจรวดต่อสู้รถถัง Skif คือแผงควบคุมด้วยรีโมทที่มีลักษณะคล้ายคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป เชื่อมต่อกับแท่นยิงด้วยสายเคเบิลยาว 50 เมตร พลยิงสามารถติดตั้งแท่นยิงที่แนวหน้าแล้วก็ลากสายเคเบิลไปควบคุมการยิงด้วยรีโมทจากในที่กำบังเช่นหลุมหลบภัยหรือบังเกอร์ในระยะที่ปลอดภัยได้ ต่างจากจรวดต่อสู้รถถังรุ่นอื่นๆที่ทำการยิงแบบแมนวล ส่งผลให้การสกัดจรวด Skif ทำได้ยากมาก เพราะยานเกราะฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถทำการยิงกดหัวพลยิงจรวดต่อสู้รถถัง Skif ได้ ต้องใช้ม่านควันอำพรางหรือไม่ก็ต้องยิงทำลายแท่นยิงจรวดต่อสู้รถถัง Skif โดยตรงเท่านั้น

ระบบจรวดต่อสู้รถถัง Skif มีอายุการใช้งาน 15 ปี ส่วนตัวจรวดมีอายุการใช้งาน 10 ปี

สวัสดี

03.04.2022

คลิปแนะนำจรวดต่อสู้รถถัง Skif จากสำนักออกแบบ Luch

แสดงความคิดเห็น