
(One half 3544/ Wikimedia Commons/ Public Domain)
รถถังตระกูล T-80 เริ่มเข้าประจำการในปี ค.ศ.1976 เป็นรถถังที่ทันสมัยที่สุดของสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น และเป็นรถถังรุ่นที่สองของโลกถัดจาก Stridsvagn 103 ของสวีเดนที่ใช้เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ ก่อนหน้ารถถัง M1 Abrams ของสหรัฐฯ เนื่องจากรถถังรุ่นนี้มีความซับซ้อนและราคาค่อนข้างแพงจึงมีใช้งานเฉพาะหน่วยทหารระดับแนวหน้าของกองทัพโซเวียตเท่านั้นรวมถึงหน่วยที่ประจำอยู่ในเยอรมนีตะวันออกเผชิญหน้ากับฝ่าย NATO ด้วย ไม่มีการส่งออกรถถังรุ่นนี้ให้ประเทศพันธมิตรในกลุ่ม Warsaw Pact รวมถึงไม่ได้ถูกส่งไปร่วมปฏิบัติการในอัฟกานิสถานด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลเทคโนโลยีรั่วไหลไปถึงมือตะวันตก ต่างจากรถถังตระกูล T-72 ที่มีการใช้งานแพร่หลายมากกว่า ตอนที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย กองทัพโซเวียตมีรถถัง T-80 ทุกรุ่นรวมกันประมาณ 5,000 คัน (จากจำนวนรถถังทั้งหมดกว่า 55,000 คัน) ส่วนใหญ่ตกทอดไปอยู่กับกองทัพรัสเซีย
แม้จะถูกออกแบบมาเป็นหัวหอกของกองทัพโซเวียตในการทำสงครามกับ NATO กรณีที่สงครามเย็นเกิดกลายเป็นสงครามร้อน แต่ในช่วงแรกๆ รถถัง T-80 กลับถูกใช้ในการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองภายในประเทศเสียมากกว่า ตั้งแต่ความพยายามก่อรัฐประหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์โค่นล้มนายมิฮาอิล กอร์บาชอฟในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1991 และวิกฤตรัฐธรรมนูญรัสเซียในปี ค.ศ.1993
รถถัง T-80 พึ่งถูกใช้ออกรบจริงครั้งแรกในสงครามเชชเนียครั้งที่หนึ่ง (First Chechen War) ระหว่างปี ค.ศ.1994 – 1996 ซึ่งกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ กองทัพรัสเซียซึ่งประสบปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น กำลังพลมีขวัญกำลังใจตกต่ำได้รับการฝึกไม่เพียงพอในช่วงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เคลื่อนกำลังยานเกราะจำนวนมากรวมถึงรถถัง T-80 เข้าไปในเชชเนียรวมถึงกรุงกรอซนีย์ โดยที่มีทหารราบคุ้มกันไม่เพียงพอ ทหารราบที่โดยสารไปในรถรบทหารราบ BMP และรถหุ้มเกราะล้อยาง BTR ก็ขาดประสบการณ์รบในเมือง ไม่ค่อยกล้าลงจากรถเพื่อเข้าเคลียร์อาคาร เปิดโอกาสให้กลุ่มกบฏเชเชนซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นทหารในกองทัพโซเวียตมาก่อน รู้ข้อมูลจุดอ่อนจุดแข็งของยุทโธปกรณ์ รวมถึงยุทธวิธีของกองทัพรัสเซียดี ใช้จรวดต่อสู้รถถัง RPG ซุ่มยิงจากบนอาคารสูงหรือชั้นใต้ดินทำลายยานเกราะของรัสเซียรวมถึงรถถัง T-80 ได้จำนวนมาก
แม้ความสูญเสียในสงครามเชชเนียจะมีสาเหตุหลักมาจากยุทธวิธีที่ผิดพลาด มากกว่าขีดความสามารถของรถถัง T-80 แต่ “ความล้มเหลว” ดังกล่าวก็กลายเป็นตราบาปสำคัญของรถถังรุ่นนี้ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่รัสเซียเลือกไปต่อกับรถถังตระกูล T-72 และ T-90 และไม่ได้ใช้ T-80 ออกรบอีกเลยทั้งในสงครามรัสเซีย-จอร์เจีย ค.ศ.2008, การสู้รบในดอนบาสปี ค.ศ.2014 – 2015 และระหว่างปฏิบัติการในซีเรีย ระหว่างนี้กองทัพรัสเซียก็ทยอยเก็บรถถัง T-80 ที่ได้รับตกทอดมาจากสหภาพโซเวียตเกือบ 4,500 คันเข้ากรุ จนเหลือใช้งานจริงประมาณ 550 คันเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นรถถัง T-80U ของกองพลรถถังที่ 4 คันเตมิรอฟสกาย่า รัสเซียพึ่งจะเริ่มหันมาให้ความสนใจรถถังตระกูล T-80 อีกครั้งในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์มีความเหมาะสมต่อการใช้งานในพื้นที่เขตหนาวเช่นในไซบีเรียและแถบอาร์กติกมากกว่าเครื่องยนต์ดีเซล โดยรัสเซียได้ทำการอัพเกรดรถถัง T-80BV เป็นรถถัง T-80BVM

(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)
ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2022 เมื่อรัสเซียเริ่ม “ปฏิบัติการพิเศษ” ในยูเครนโดยใช้กำลังพลประมาณ 200,000 นาย สนับสนุนด้วยยานเกราะจำนวนมาก รวมถึงรถถัง T-80U และ T-80BVM ด้วย จึงถือเป็นโอกาสของรถถังตระกูล T-80 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่ารถถังส่วนใหญ่ของยูเครน (กองทัพยูเครนใช้รถถังตระกูล T-64 เป็นกำลังรบหลัก) ที่จะได้แก้ตัวจากความล้มเหลวในเชชเนีย แต่ประวัติศาสตร์กลับซ้ำรอย
กองทัพยูเครนนำอาวุธหนักถอยร่นเข้าไปในเมืองใหญ่ต่างๆไม่ออกมาปะทะกับรัสเซียซึ่งหน้าในที่โล่ง ส่งผลให้หน่วยยานเกราะรัสเซียไม่มีโอกาสได้ปะทะกับหน่วยยานเกราะของยูเครนมากนัก สภาพอากาศที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวเป็นฤดูใบไม้ผลิหรือที่เรียกว่ารัสปูติตซ่า (Rasputitsa) ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเคลื่อนพลของรัสเซีย เพราะทำให้พื้นดินกลายเป็นโคลนเลน ส่งผลให้กองทัพรัสเซียต้องเคลื่อนพลเป็นขบวนยาวมาตามถนนเท่านั้น ไม่สามารถใช้สภาพภูมิประเทศของยูเครนที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบให้เกิดประโยชน์ได้ โดยที่รัสเซียก็มีทหารราบไม่เพียงพอที่จะคุ้มกันพื้นที่ที่ยึดครองได้อย่างทั่วถึงด้วย เป็นการง่ายสำหรับทหารราบยูเครนซึ่งมีอาวุธต่อสู้รถถังที่ทันสมัยจำนวนมากทั้งที่พัฒนาเองเช่น Stugna-P กับที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกเช่น Javelin และ NLAW ที่จะแทรกซึมเข้ามาซุ่มโจมตีขบวนคอนวอยของรัสเซีย ที่สำคัญเนื่องจากยูเครนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถถัง T-80 สมัยที่อยู่ในสหภาพโซเวียต ย่อมรู้จุดอ่อนจุดแข็งของรถถังรุ่นนี้มากกว่ากบฏเชเชนเสียอีก (ไม่ต้องพูดถึงการที่ชาติตะวันตกหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯสามารถจัดหารถถัง T-80 ไปศึกษาได้ช่วงหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย) นอกจากรัสเซียจะสูญเสียรถถัง T-80 ไปหลายคันจากจรวดต่อสู้รถถังแล้ว การที่ขบวนรถบรรทุกของรัสเซียถูกซุ่มโจมตีอยู่ตลอด ยังส่งผลให้หน่วยทหารรัสเซียในแนวหน้าสุดหลายหน่วยขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และรถถัง T-80 ซึ่งใช้เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ก็ต้องการน้ำมันมากเสียด้วย ส่งผลให้มี T-80 หลายคันที่ถูกทหารรัสเซียทิ้งไว้เพราะน้ำมันหมด แล้วถูกฝ่ายยูเครนยึดไปได้
ไม่ว่าผลสุดท้ายของสงครามยูเครนจะออกมาอย่างไร เหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นความล้มเหลวครั้งที่สองของรถถังตระกูล T-80 ถัดจากสงครามเชชเนียไปแล้ว โดยที่สาเหตุหลักเหมือนเดิมเลยคือยุทธวิธีที่ผิดพลาด ถ้าจะเรียกว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยก็คงจะไม่ผิดนัก
สวัสดี
05.04.2022