มัสควา (Moskva) เรือธงกองเรือทะเลดำรัสเซียเสียหายหนักนอกชายฝั่งยูเครน

ภาพเรือลาดตระเวน Moskva เรือธงกองเรือทะเลดำของรัสเซียในปี ค.ศ.2009
(George Chernilevsky/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

มีข่าวจากสื่อ Ukrinform ของยูเครน Maksym Marchenko นายทหารยูเครนที่เมืองท่า Odessa โพสต์ Telegram อ้างว่ากองทัพยูเครนสามารถใช้จรวดร่อนต่อต้านเรือรบ Neptune ยิงเรือลาดตระเวน Moskva ของรัสเซียได้รับความเสียหายอย่างหนักได้

ต่อมาสื่อรัสเซียเช่น RT ก็ลงข่าวยืนยันว่าเรือลาดตระเวน Moskva ได้รับความเสียหายอย่างหนักจริง แต่ฝ่ายรัสเซียอ้างว่าเกิดเหตุไฟไหม้บนเรือแล้วลามถึงตัวอาวุธส่งผลให้เกิดการระเบิดขึ้น ข้อมูลเพิ่มเติมจากสื่อ CGTN ระบุว่ารัสเซียได้อพยพลูกเรือของ Moskva แล้วและกำลังสอบสวนสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้

ไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นผลงานของจรวด Neptune จริงหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวผมก็เชื่อว่าเป็นฝีมือยูเครนนั่นแหละและจะอธิบายต่อไป เรือลาดตระเวน Moskva ซึ่งเป็นเรือธงของกองเรือทะเลดำ (Black Sea Fleet) ของรัสเซียก็เกิดเหตุระเบิดได้รับความเสียหายหนักจนเดี้ยงไปแล้ว ต้องลุ้นว่าจะจมหรือไม่เท่านั้น ภาพลักษณ์ของกองทัพเรือรัสเซียเสียหายยับเยิน

เรือลาดตระเวน Moskva เป็นเรือในชั้น Slava (Project 1164 Atlant) ต่อขึ้นในช่วงยุค 70 – 80 สมัยสหภาพโซเวียต Moskva หรือเดิมชื่อ Slava เป็นเรือลำแรกของชั้นเข้าประจำการในปี ค.ศ.1982 มีระวางขับน้ำ 11,490 ตัน มีเขี้ยวเล็บได้แก่จรวดร่อนต่อต้านเรือรบ P-500 Bazalt หรือ P-1000 Vulcan ซึ่งสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้จำนวน 16 ลูก, ระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-300F Fort จำนวน 64 ลูก, ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Osa-M จำนวน 2 แท่นมีจรวด 40 ลูก, ปืนเรือขนาด 130 มิลลิเมตร AK-130, ระบบป้องกันระยะประชิด AK-630 จำนวน 6 แท่น, แท่นยิงจรวดต่อต้านเรือดำน้ำ RBU-6000 จำนวน 2 แท่น และท่อปล่อยตอร์ปิโดขนาด 533 มิลลิเมตร มีลูกเรือประมาณ 500 นาย

จะเห็นได้เรือชั้น Slava เช่นเดียวกับเรือรบสมัยโซเวียตส่วนใหญ่เช่นเรือพิฆาตชั้น Udaloy และ Sovremenny ถูกออกแบบมาใช้ในภารกิจต่อต้านเรือรบและเรือดำน้ำเป็นหลัก มีขีดความสามารถในการโจมตีเป้าหมายบนฝั่งค่อนข้างจำกัด ต่างจากเรือรบรัสเซียที่ต่อขึ้นในช่วงหลังๆเช่นเรือฟริเกตชั้น Admiral Grigorovich และ Admiral Gorshkov, เรือคอร์เวตชั้น Buyan-M เป็นต้น ที่สามารถโจมตีเป้าหมายลึกเข้าไปในแผ่นดินหลายพันกิโลเมตรด้วยจรวดร่อน Kalibr แม้แต่จรวดร่อนต่อต้านเรือรบรุ่นหลังๆอย่าง P-800 Oniks ก็สามารถใช้โจมตีเป้าหมายบนฝั่งได้

เมื่อ Moskva มีขีดความสามารถในการโจมตีเป้าหมายบนฝั่งได้จำกัด ภารกิจของ Moskva ระหว่าง “ปฏิบัติการพิเศษ” ในยูเครนจึงแตกต่างจากเรือรบรัสเซียลำอื่นๆที่ระดมยิงจรวดร่อน Kalibr ถล่มเป้าหมายในยูเครน เป็นการลาดตระเวนปิดอ่าวเมืองท่า Odessa ของยูเครน รวมถึงกดดันให้ยูเครนต้องตรึงกำลังทหารจำนวนมากไว้ในพื้นที่เพื่อป้องกันการยกพลขึ้นบกของรัสเซีย ไม่ให้สามารถเคลื่อนย้ายไปเสริมที่อื่นได้ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม มีข่าวใน Naval News รายงานว่ากองเรือรัสเซียประกอบด้วยเรือลาดตระเวน Moskva และเรือยกพลขึ้นบกอีกหลายลำแล่นเข้าหาเมืองท่า Odessa ก่อนจะวกกลับฐาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเมื่อเรือลาดตระเวน Moskva ออกลาดตระเวนนอกชายฝั่ง Odessa บ่อยครั้งเข้า ความเคยชินก็ส่งผลให้กองทัพเรือรัสเซียเกิดความประมาท ไม่มีการเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ เห็นได้จากบทความใน Naval News เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์ชื่อ H I Sutton สามารถใช้ข้อมูล OSINT (แหล่งข้อมูลเปิดที่คนทั่วไปเข้าถึงได้เช่นโซเชียลมีเดีย ดาวเทียมเอกชน ฐานข้อมูลเส้นทางบิน เส้นทางเดินเรือต่างๆ – ผู้เขียน) ติดตามเส้นทางเดินเรือของ Moskva จนเห็นรูปแบบเดิมๆซ้ำๆ ทีนี้ถ้าแค่แหล่งข้อมูลเปิดยังมีข้อมูลมากขนาดนี้ ก็ไม่ต้องพูดถึงข้อมูลของหน่วยข่าวกรองทางทหารเลย

จากปัจจัยเหล่านี้เองผมจึงมองว่าเหตุการณ์นี้เกิดจากความประมาทของรัสเซียที่ส่งเรือลาดตระเวน Moskva ออกลาดตระเวนใกล้ชายฝั่งยูเครนมากเกินไป โดยใช้เส้นทางเดินเรือซ้ำๆกันหลายครั้ง ส่งผลให้ยูเครนซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านข่าวกรองจากตะวันตกสามารถนำระบบป้องกันชายฝั่งมาติดตั้งดักเส้นทางของ Moskva ได้ แม้บนเรือจะมีระบบป้องกันภัยทางอากาศจำนวนมากแต่ก็ล้วนเป็นรุ่นเก่า กล่าวคือ S-300F นั้นเข้าประจำการตั้งแต่ปี ค.ศ.1984 เป็นรุ่นติดตั้งบนเรือรบของ S-300P ขณะที่ Osa-M ยิ่งแล้วใหญ่ เข้าประจำการตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 ไม่เหมาะจะใช้สกัดจรวดต่อต้านเรือรบรุ่นใหม่ๆแล้ว ความจริงรัสเซียไม่ควรจะใช้ Moskva ในภารกิจลาดตระเวนล่อเป้าใกล้ชายฝั่งตั้งแต่แรก ถือเป็นบทเรียนราคาแพงทั้งในด้านกำลังรบและภาพลักษณ์ของกองทัพเรือรัสเซีย

สวัสดี

14.04.2022

แสดงความคิดเห็น