
(VoidWanderer/ Wikimedia Commons/ CC BY-SA 4.0)
ระบบจรวดต่อต้านเรือรบ RK-360MC Neptune ของยูเครน พัฒนาโดยสำนักออกแบบ Luch เริ่มโครงการในปี ค.ศ.2014 ใช้จรวดร่อนต่อต้านเรือรบ R-360 ซึ่งมีพื้นฐานมาจากจรวดร่อนต่อต้านเรือรบ Kh-35 เป็นเขี้ยวเล็บหลัก เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ.2015 กองทัพเรือยูเครนจัดหาจรวดรุ่นนี้เข้าประการในปี ค.ศ.2020 ได้รับมอบระบบแรกเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2021
สาเหตุที่ยูเครนสามารถใช้ Kh-35 มาเป็นพื้นฐานในการพัฒนา Neptune ได้ ทั้งที่ Kh-35 รุ่นแรกคือ Kh-35E พึ่งจะเข้าสู่สายการผลิตครั้งแรกในรัสเซียในปี ค.ศ.1996 (เป็นรุ่นสำหรับส่งออก ส่วนรุ่นที่รัสเซียใช้เองพึ่งเข้าประจำการปี ค.ศ.2003) หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายไปแล้ว เป็นเพราะโครงการพัฒนาจรวดรุ่นนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต โดยโซเวียตมีแผนจะจัดตั้งสายการผลิต Kh-35 ในยูเครนด้วย ส่งผลให้แม้โซเวียตจะล่มสลายไปก่อน แต่ยูเครนก็มีเอกสารข้อมูลทางเทคนิคต่างๆของ Kh-35 อยู่ในมือ และนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนา Neptune โดย Neptune จะมีขนาดใหญ่กว่า Kh-35 เล็กน้อยและมีระยะยิงไกลกว่า
จรวด R-360 มีขนาดยาวประมาณ 4.4 เมตร (5.05 เมตรเมื่อรวมบูสเตอร์) หนัก 870 กิโลกรัม ส่วนหัวรบ HE-FRAG มีน้ำหนัก 150 กิโลกรัม ระยะยิง 280 กิโลเมตร มีความเร็วระดับซับโซนิค เคลื่อนที่เหนือผิวน้ำที่ระดับความสูงประมาณ 10 – 15 เมตร ก่อนจะลดระดับลงไปที่ 3 – 10 เมตรเหนือผิวน้ำเมื่อเข้าใกล้เป้าหมาย เพื่อหลบเลี่ยงระบบป้องกันตัวของเรือรบ
ระบบจรวดต่อต้านเรือรบ RK-360MC ระบบหนึ่งประกอบด้วยรถบัญชาการ RCP-360, รถฐานยิง USPU-360 จำนวน 6 คัน แต่ละคันบรรทุกจรวด R-360 จำนวน 4 ลูก, รถบรรทุกจรวดสำรองแบบมีเครนในตัว TZM-360 จำนวน 6 คัน แต่ละคันบรรทุกจรวด 4 ลูก, รถบรรทุกจรวดสำรองแบบไม่มีเครน TM-360 จำนวน 6 คัน แต่ละคันบรรทุกจรวด 4 ลูก รวมจำนวนจรวดทั้งระบบ 72 ลูก ค้นหาเป้าหมายด้วยเรดาร์ Mineral-U ซึ่งมีระยะตรวจจับประมาณ 500 – 600 กิโลเมตร ระบบจรวดต่อต้านเรือรบ RK-360MC ถูกออกแบบมาให้ติดตั้งห่างจากชายฝั่งเข้ามาในแผ่นดินเป็นระยะไม่เกิน 25 กิโลเมตร ใช้เวลาเตรียมการยิงประมาณ 15 นาที
สวัสดี
15.04.2022