3 เหตุผลที่ระบบป้องกันชายฝั่งน่าสนใจจัดหามากกว่าขีปนาวุธพิสัยใกล้

ภาพรถฐานยิงของระบบป้องกันชายฝั่ง Bastion-P ของรัสเซียในปี ค.ศ.2018
(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)

ช่วงหลายปีมานี้ ระบบป้องกันชายฝั่ง (Coastal Defense System) ได้ถูกนำมาใช้งานแพร่หลายมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่กลับถูกนำไปใช้ยิงทำลายเป้าหมายบนพื้นดินมากกว่า เช่นที่รัสเซียใช้ระบบป้องกันชายฝั่ง Bastion-P ยิงจรวดร่อนต่อต้านเรือรบ P-800 Oniks โจมตีกลุ่ม IS ในซีเรียและล่าสุดก็ใช้ในยูเครนด้วย ทั้งที่ภารกิจดังกล่าวเดิมมักจะเป็นของจรวดร่อนยิงจากเรือรบอย่าง Tomahawk หรือ Kalibr และระบบขีปนาวุธพิสัยใกล้ (Short-range ballistic missile) เช่น Iskander-M ส่งผลให้ระบบป้องกันชายฝั่งเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น ส่วนตัวผมมองว่าถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว ระบบป้องกันชายฝั่งมีความน่าสนใจกว่าขีปนาวุธพิสัยใกล้เสียอีกด้วยเหตุผล 3 ข้อครับ

1.ระบบป้องกันชายฝั่งซึ่งใช้จรวดร่อนต่อต้านเรือรบเป็นเขี้ยวเล็บเช่นระบบป้องกันชายฝั่ง Bal ซึ่งใช้จรวด Kh-35, ระบบป้องกันชายฝั่ง Bastion-P ซึ่งใช้จรวด P-800 Oniks/ Yakhont สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์กว่าขีปนาวุธพิสัยใกล้เช่น Iskander-E หรือ Tochka-U คือสามารถใช้ต่อตีเรือรบในทะเลและใช้โจมตีเป้าหมายบนพื้นดินได้ด้วย แม้ขีปนาวุธจะใช้ยิงใส่เรือรบได้เช่นกัน แต่เนื่องจากขีปนาวุธพิสัยใกล้ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบมาใช้ในภารกิจต่อต้านเรือรบโดยตรง การยิงใส่เรือรบในทะเลที่มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา ต่างจากเป้าหมายบนพื้นดินที่อยู่กับที่จึงทำได้ยาก ส่วนใหญ่จะใช้ได้ในกรณีที่เรือรบลอยลำหรือจอดเทียบท่าอยู่กับที่เท่านั้น เช่นกรณีที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธ Tochka-U ยิงใส่เรือยกพลขึ้นบกของรัสเซียขณะเทียบท่าที่เมืองท่า Berdyansk ในขณะที่ระบบป้องกันชายฝั่ง Bastion-P และ Bal ของรัสเซียได้ผ่านการทดสอบในซีเรียแล้วต่อมาก็ถูกใช้ในยูเครน แสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถใช้โจมตีเป้าหมายบนพื้นดินได้แม่นยำไม่ต่างจากขีปนาวุธพิสัยใกล้

ภาพระบบป้องกันชายฝั่ง Bal ของรัสเซีย ใช้จรวดร่อนต่อต้านเรือรบ Kh-35
(Pliskin/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

2.ระยะยิงของระบบป้องกันชายฝั่งและขีปนาวุธพิสัยใกล้ในปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกันมาก บางครั้งจรวดร่อนของระบบป้องกันชายฝั่งอาจมีระยะยิงไกลกว่าขีปนาวุธพิสัยใกล้ด้วยซ้ำ เนื่องจากระบบอาวุธจรวดรุ่นส่งออกถูกจำกัดระยะยิงตามข้อตกลงระหว่างประเทศ Missile Technology Control Regime (MTCR) ไม่ให้มีระยะยิงเกิน 300 กิโลเมตรนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่นขีปนาวุธ ATACMS ซึ่งใช้กับระบบจรวดหลายลำกล้อง M270 และ HIMARS ของสหรัฐฯมีระยะยิงไกลสุด 300 กิโลเมตร ขีปนาวุธ Iskander-E รุ่นส่งออกของรัสเซียมีระยะยิง 280 กิโลเมตร (รุ่นที่รัสเซียใช้เองคือ Iskander-M มีระยะยิง 500 กิโลเมตร) จรวดร่อน Kh-35U และรุ่นส่งออกคือ Kh-35UE ของระบบป้องกันชายฝั่ง Bal ของรัสเซียมีระยะยิง 260 กิโลเมตร จรวดร่อน P-800 Yakhont (รุ่นส่งออกของ P-800 Oniks) ของระบบป้องกันชายฝั่ง Bastion-P ของรัสเซียมีระยะยิง 300 กิโลเมตร จรวดร่อนต่อต้านเรือรบ BrahMos ของอินเดียซึ่งพัฒนาร่วมกับรัสเซียโดยใช้ P-800 Yakhont เป็นต้นแบบมีระยะยิง 290 กิโลเมตร เป็นต้น จะเห็นว่าระยะยิงแทบไม่ต่างกันเลย มีข้อยกเว้นแค่รุ่นที่มหาอำนาจใช้เองบางรุ่นเท่านั้นซึ่งปกติก็ไม่มีการส่งออกให้ต่างประเทศอยู่แล้ว

ภาพรัสเซียทดสอบยิงขีปนาวุธ Iskander-M เมื่อปี ค.ศ.2018
(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)

3.ระบบป้องกันชายฝั่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นระบบป้องกัน เป็นอาวุธเชิงรับ ต่างจากขีปนาวุธที่เป็นอาวุธเชิงรุก แม้ยุทโธปกรณ์ทั้งสองอย่างจะสามารถใช้ทำลายเป้าหมายบนพื้นดินได้เหมือนกัน แต่เพราะระบบป้องกันชายฝั่งถูกมองว่าเป็นอาวุธเชิงรับนี้เอง ส่งผลให้เมื่อมีการจัดหาหรือส่งไปประจำการในพื้นที่ต่างๆแล้วจะสร้างความตึงเครียดทางการเมืองน้อยกว่า ผู้ใช้สามารถอ้างได้ว่าเป็นระบบอาวุธสำหรับใช้ป้องกันตัวเท่านั้น จึงมีความเหมาะสมสำหรับประเทศที่กองทัพมีหลักนิยมเน้นการป้องกันตนเองเป็นหลัก สามารถใช้ถ่วงดุลกับขีปนาวุธพิสัยใกล้ของประเทศข้างเคียงได้โดยไม่สร้างความตึงเครียดมากนัก

ภาพจรวดร่อน BrahMos ของอินเดีย ตั้งแสดงในงาน IMDS-2007
(One half 3544/ Wikimedia Commons/ Public Domain)

ด้วยเหตุผล 3 ข้อนี้เอง ถ้าประเทศหนึ่งต้องตัดสินใจเลือกจัดหาระบบป้องกันชายฝั่งหรือขีปนาวุธพิสัยใกล้อย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนตัวผมจึงสนับสนุนให้เลือกระบบป้องกันชายฝั่งมากกว่าไม่ว่าจะเป็น Bal และ Bastion-P ของรัสเซีย, Neptune ของยูเครน, BrahMos ของอินเดีย หรือรุ่นอื่นๆครับ

สวัสดี

21.04.2022

แสดงความคิดเห็น