ฝรั่งเศสส่งจรวดต่อสู้รถถัง MILAN และปืนใหญ่อัตตาจรซีซาร์ CAESAR ให้ยูเครน

ภาพปืนใหญ่อัตตาจร Caesar ของฝรั่งเศส สังกัดกองกำลังเฉพาะกิจ Wagram ในประเทศอิรัก วันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ.2018
(U.S. Army photo by Spc. Zakia Gray)

มีข่าวจากสื่อ Al Jazeera เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ของฝรั่งเศสได้ให้สัมภาษณ์สื่อ Ouest-France เกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสและสถานการณ์ในยูเครน มีอยู่ช่วงหนึ่งที่นักข่าวถามเกี่ยวกับการส่งยุทโธปกรณ์ไปช่วยยูเครนรบกับรัสเซีย มาครงเปิดเผยว่าฝรั่งเศสจะส่งจรวดต่อสู้รถถัง MILAN, ปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR และยุทโธปกรณ์อื่นๆหลายรุ่นให้ยูเครน แต่จะไม่เข้าร่วมเป็นคู่สงครามโดยตรงกับรัสเซีย ต่อมานาย Florence Parly รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของฝรั่งเศสก็ยืนยันผ่าน Twitter ว่าฝรั่งเศสจะส่งปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR หลายระบบและกระสุนหลายพันนัดให้ยูเครน

จรวดต่อสู้รถถัง MILAN (ชื่อย่อมาจาก Missile d’Infanterie Léger Antichar) พัฒนาร่วมกันโดยฝรั่งเศสและเยอรมนี ผลิตโดยบริษัท MBDA จรวดรุ่นแรกเข้าสู่สายการผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ.1972 แต่มีการพัฒนาต่อยอดมาถึงปัจจุบัน ใช้หัวรบ HEAT เดิมมีระยะยิง 2 กิโลเมตร แต่ในรุ่นล่าสุดคือ MILAN-ER มีระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น 3 กิโลเมตร

CAESAR (ชื่อย่อมาจาก CAmion Équipé d’un Système d’ARtillerie) พัฒนาโดยบริษัท GIAT (ปัจจุบันคือ Nexter Systems) เป็นปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 155 มิลลิเมตร ความยาวลำกล้อง 52 คาลิเบอร์ ติดตั้งบนแคร่รถบรรทุก 6×6 หรือ 8×8 มีระยะยิง 42 กิโลเมตร อัตราการยิง 6 นัดต่อนาที บรรทุกกระสุน 18 นัด

แม้ปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR จะมีประสิทธิภาพสูง แต่เนื่องจากยูเครนไม่เคยใช้งานปืนใหญ่อัตตาจรรุ่นนี้มาก่อน นอกจากนี้กระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มิลลิเมตรนั้นเป็นขนาดมาตรฐานของ NATO ซึ่งกองทัพยูเครนไม่เคยใช้และไม่มีสำรองไว้ในคลังด้วย เนื่องจากยูเครนเป็นประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ใช้อาวุธมาตรฐานโซเวียตรวมถึงปืนใหญ่ขนาด 152 มิลลิเมตรเป็นหลัก ดังนั้นทหารยูเครนที่จะมาเป็นพลประจำปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR จะต้องได้รับการฝึกใหม่ตั้งแต่ต้น อะไหล่และกระสุนทั้งหมดก็ต้องส่งมาจากต่างประเทศ ที่สำคัญระบบการยิงของ CAESAR นั้นเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ไม่สามารถเปลี่ยนไปทำการยิงแบบแมนวลได้ ถ้าเกิดการชำรุดเสียหายขึ้นก็ไม่สามารถใช้ทำการรบต่อไปได้ ต้องส่งกลับไปซ่อมอย่างเดียว ต้องติดตามต่อไปครับว่ายูเครนจะใช้งานปืนใหญ่อัตตาจร CAESAR ได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน

สวัสดี

23.04.2022

แสดงความคิดเห็น