ขีดความสามารถปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร BTR-ZD ของสหภาพโซเวียต/รัสเซีย

ภาพปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร BTR-ZD ของรัสเซีย
(Ministry of Defence of the Russian Federation – Mil.ru)

ปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร BTR-ZD Skrezhet เข้าประจำการในกองทัพสหภาพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ.1984 เกิดจากการนำแคร่รถสายพานลำเลียงพลร่ม BTR-D มาดัดแปลงใช้บรรทุกพลจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า (MANPADS) จำนวน 2 ชุดยิง และมีการติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 23 มิลลิเมตร ZU-23-2 ซึ่งมีอัตราการยิงสูงสุดถึง 2,000 นัดต่อนาที (ลำกล้องละ 1,000 นัด) ไว้ด้านบนตัวรถด้วย BTR-ZD ยังมีปืนกลขนาด 7.62 มิลลิเมตร 2 กระบอกบริเวณด้านหน้าตัวรถด้วย ระบบขับเคลื่อนใช้เครื่องยนต์ดีเซล 5D20 ขนาด 240 แรงม้า มีความเร็วสูงสุด 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 500 กิโลเมตร มีคุณสมบัติสะเทินน้ำสะเทินบก สามารถเคลื่อนที่ในน้ำด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

กองทัพโซเวียตใช้งานปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร BTR-ZD ครั้งแรกในอัฟกานิสถาน และเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย BTR-ZD ส่วนใหญ่ก็ตกทอดไปอยู่ในมือของกองทัพรัสเซีย ซึ่งยังคงใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันผ่านสมรภูมิทั้งสงครามเชชเนียมาจนถึงปฏิบัติการพิเศษในยูเครน

จุดเด่นของปืนต่อสู้อากาศยานอัตตาจร BTR-ZD ที่ใช้ปืนต่อสู้อากาศยานร่วมกับ MANPADS ส่งผลให้สามารถรับมืออากาศยานที่มีเพดานบินต่ำเช่นเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินโจมตีภาคพื้นดินได้ดี ปืนต่อสู้อากาศยานยังสามารถใช้ยิงสนับสนุนภาคพื้นดินได้ด้วย แต่เนื่องจาก BTR-ZD ไม่มีเรดาร์เป็นของตัวเอง ส่งผลให้พลประจำรถต้องค้นหาเป้าหมายด้วยสายตา ถ้าถูกอากาศยานฝ่ายตรงข้ามตรวจพบก่อนก็อาจถูกทำลายได้โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังไม่มีเกราะกำบังสำหรับพลปืนต่อสู้อากาศยานด้วย จึงมีโอกาสได้รับอันตรายจากอาวุธปืนเล็กและสะเก็ดระเบิดได้

สวัสดี

03.05.2022

แสดงความคิดเห็น