
วันนี้ผมบังเอิญได้อ่านบทความ “T-90M รถถังรัสเซียที่ได้ชื่อว่าไร้เทียมทาน ถูกทำลายด้วยน้ำมือยูเครน” ของสื่อ Post Today ซึ่งลงไว้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับข่าวที่รัสเซียได้สูญเสียรถถัง T-90M คันหนึ่งใกล้เมือง Kharkiv ในยูเครน แม้ดูเหมือนว่านักข่าวจะพยายามทำการบ้านรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งแล้ว แต่ก็ยังมีจุดผิดพลาดหรืออาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้หลายจุด (นอกเหนือจากคำที่พิมพ์ผิดเยอะมาก) ผมเลยจะขอแสดงความคิดเห็นประกอบไว้
ในบทความข้อ 1 ได้พูดถึงรถถัง T-90M ว่าเป็นรถถังที่ “กล่าวขวัญถึงในโลกตะวันตกเรื่องอานุภาพของรถถังรุ่นนี้ที่ว่ากันว่าไร้เทียมทาน แต่กลับถูกถล่มจนพังพินาศในยูเครน” ผมอ่านแล้วยิ้มเลย ก็ชื่อรถถังรุ่นนี้ก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น T-90M ไม่ใช่รถถัง Jesus ถูกทำลายได้ก็ไม่เห็นจะแปลก ที่ผ่านมารถถังที่ว่ากันว่าไร้เทียมทานทั้ง M1 Abrams ของสหรัฐฯ, Challenger 2 ของอังกฤษ, Leopard 2 ของเยอรมนี หรือ Merkava ของอิสราเอลก็ล้วนถูกถล่มจนพังพินาศมาแล้วทั้งนั้น
ในบทความข้อ 2 ผมไม่เห็นด้วยกับการใช้คำว่า “ยูเครนตะวันออก” ควรใช้คำว่าภาคตะวันออกของยูเครนมากกว่า เพราะคำว่ายูเครนตะวันออกนั้นให้ความรู้สึกเหมือนยูเครนได้ถูกแบ่งครึ่งเป็นสองประเทศตะวันตกกับตะวันออก เหมือนเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกสมัยสงครามเย็น
ในบทความไม่มีข้อ 3 นักข่าวพิมพ์ข้ามไป
ในบทความข้อ 4 นักข่าวอ้างว่ารัสเซียใช้รถถัง T-90M ในยูเครน 20 คัน อ้างอิงจากสื่อ The National Interest แต่เมื่อกดเข้าไปกลับพบว่าแหล่งอ้างอิงจริงๆแล้วคือสื่อ Newsweek และต้นทางก็ไม่ได้บอกว่ารัสเซียใช้ T-90M ในยูเครน 20 คันเลย แต่บอกว่ารัสเซียมีรถถังรุ่นนี้อยู่ 20 คันต่างหาก (เป็นข้อมูลเก่า ปัจจุบันรัสเซียน่าจะมี T-90M ประมาณ 2 กองพัน – ผู้เขียน) ไม่ได้หมายความว่ารัสเซียส่งเข้ามาในยูเครนทั้งหมด
ในบทความข้อ 5 นักข่าวจะนำเสนอข้อมูลขีดความสามารถของรถถัง T-90 ก่อนอัพเกรดเป็น T-90M ว่า “มีศักยภาพน่าเกรงขามแค่ไหน” แต่กลับพูดถึงแค่ระบบอาวุธซึ่งไม่ได้แตกต่างจากรถถังรัสเซีย (โซเวียต) รุ่นอื่นๆอย่าง T-72 และ T-80 เลย
บทความข้อ 6 ที่บอกว่ารถถัง T-90 “ถูกป้อนด้วยตัวโหลดกระสุนอัตโนมัติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ตัวโหลดด้วยตนเองในรถถัง” นั้นผิด ต้องบอกว่าไม่จำเป็นต้องใช้พลบรรจุกระสุนต่างหาก
บทความข้อที่ 7 – 8 มีเนื้อหาบทความที่พูดถึงระบบป้องกันตัวของรถถัง T-90 อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ บทความข้อ 7 ที่บอกว่า T-90 มีระบบป้องกัน 3 ชั้นนั้นถูกต้องในกรณีของรถถัง T-90 รุ่นที่มีตาแดงเช่น T-90A โดยระบบป้องกัน 3 ชั้นนั้นประกอบด้วยเกราะคอมโพสิต, เกราะปฏิกิริยาระเบิด (ERA) รุ่น Kontakt-5 และระบบป้องกันตัวแบบแอคทีฟ Shtora-1 ซึ่งมีตาแดงเป็นส่วนประกอบหนึ่งทำหน้าที่แจมระบบนำวิถีของจรวดต่อสู้รถถังก่อนจะเข้าถึงตัวรถ แต่เนื่องจากตาแดงนั้นใช้ได้กับจรวดต่อสู้รถถังบางรุ่นเท่านั้น รวมถึงใช้พื้นที่บนป้อมปืนมาก จุดที่ตาแดงติดตั้งอยู่ไม่สามารถติดเกราะ ERA ได้กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญ เมื่อทำการอัพเกรดเป็น T-90M รัสเซียจึงถอดตาแดงออกเหลือไว้เพียงเซนเซอร์แจ้งเตือนของระบบ Shtora-1 เท่านั้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าระบบป้องกันตัวของ T-90M มีแค่ 2 ชั้นคือเกราะคอมโพสิตและเกราะ ERA แบบ Relikt ซึ่งมีประสิทธิภาพเหรือกว่า Kontakt-5 บทความข้อ 8 คือตัวปัญหาที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่ว่าพอทดสอบยิงใส่รถถัง T-90 แล้ว “ปรากฏว่าไปถึงแค่เกราะชั้นที่ 2” อาจทำให้คนทั่วไปเข้าในผิดว่า T-90 มีเกราะ 3 ชั้น แต่ความจริงแล้วเป็นระบบป้องกันตัวชั้นที่ 2 คือเกราะ ERA ซึ่งอยู่ด้านนอกสุดต่างหาก หลักการทำงานของ ERA คือจะระเบิดตัวเองไปพร้อมกับกระสุนหรือจรวดที่กำลังพุ่งเข้ามาหารถถัง ไม่ว่าอาวุธดังกล่าวจะเจาะเกราะรถถังได้หรือไม่ ERA ก็จะระเบิดไปด้วยอยู่แล้ว
บทความข้อ 9 มีจุดผิดคือชื่อรุ่นของรถถัง T-90M นั้นจริงๆแล้วคือ Proryv-3 ไม่ใช่ Proryv เฉยๆ ถ้าจะใส่มาต้องระบุเลขด้วย
บทความข้อ 10 คำว่า “ภาพพาโนรามาพร้อมการมองเห็นด้วยความร้อน” ผมเดาว่านักข่าวแปลมาจากคำว่า panoramic กับ thermal sight จริงๆมันคือกล้องเล็ง ไม่ใช่ภาพพาโนรามา
ในบทความข้อ 12 ที่บอกว่ารัสเซียอัพเกรดรถถังรุ่นนี้จากประสบการณ์ในซีเรียนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะ T-90M นั้นมีพื้นฐานมาจากรถถัง T-90AM (รุ่นส่งออกคือ T-90SM หรือนิยมเรียกกันว่า T-90MS) ซึ่งเปิดตัวตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 ก่อนรัสเซียจะเข้าแทรกแซงสงครามซีเรียถึง 4 ปี แต่ตอนนั้นรัสเซียไม่ได้จัดหา T-90AM เข้าประจำการและในปีเดียวกันก็ระงับการจัดหา T-90A เพิ่มเติมด้วย หันไปอัพเกรดรถถัง T-72B เป็น T-72B3 แทน สาเหตุหลักมาจากรัสเซียต้องการทุ่มงบประมาณให้โครงการรถถัง T-14 Armata ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวในปี ค.ศ.2015 แต่เมื่อโครงการ Armata มีปัญหาล่าช้า รัสเซียจึงนำเทคโนโลยีบางส่วนของรถถัง T-14 ไปต่อยอดให้ T-90AM กลายเป็นรถถัง T-90M เปิดตัวครั้งแรกระหว่างการซ้อมรบ Zapad-2017 ร่วมกับเบลารุส
ในบทความข้อ 13 การเหมารวมว่า “รัสเซียส่งรถถังรุ่นเก่าตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตเข้ามาปฏิบัติการ เช่น T-80” นั้นไม่ถูกต้อง เพราะถึงแม้รถถัง T-80 รุ่นแรกจะเข้าประจำการตั้งแต่ปี ค.ศ.1976 แต่ก็มีการพัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆรุ่นล่าสุดคือ T-80BVM พึ่งเปิดตัวเมื่อปี ค.ศ.2017 นี้เอง รถถังตระกูล T-72 ก็เช่นกัน หรือแม้แต่รถถังของค่าย NATO ทั้ง M1 Abrams, Leopard 2 หรือ Merkava ก็ล้วนเข้าประจำการตั้งแต่ยุคสงครามเย็นทั้งสิ้น แต่มีการพัฒนารุ่นใหม่ๆต่อยอดมาถึงปัจจุบัน การจะระบุว่ารถถังอยู่ในยุคไหนนั่นต้องดูรุ่นเฉพาะด้วย
บทความข้อ 14 ที่นักข่าวอ้างถึงโดรนพลีชีพ (นักข่าวใช้คำว่าโดรนฆ่าตัวตาย) ในสมรภูมินาร์กอโน-คาราบัคนั้น นักข่าวน่าจะสับสนระหว่างโดรน Bayraktar TB2 ผลิตในตุรกีและ IAI Harop ผลิตในอิสราเอล ซึ่งอาเซอร์ไบจานมีใช้งานทั้งสองรุ่น แต่ยูเครนมีเฉพาะ Bayraktar TB2 ซึ่งไม่ใช่โดรนพลีชีพ ในส่วนของ Switchblade นั้นสหรัฐฯพึ่งส่งให้ยูเครนได้ไม่นาน ยังไม่มีผลงานมากนัก จะนำมาอ้างว่ายูเครนใช้โดรนพลีชีพอย่างมีประสิทธิภาพต่อรถถังรัสเซียไม่ได้
ในบทความข้อ 15 ที่ว่าขวัญกำลังใจรัสเซียสั่นคลอนครั้งใหญ่เมื่อสูญเสีย T-90M นั่นผมอ่านแล้วขำก๊ากเลย อย่างที่บอกไว้แต่แรกแล้วว่านี่ไม่ใช่รถถัง Jesus แต่เป็น T-90M ก็แค่รถถังรุ่นหนึ่งที่มนุษย์ Homo sapiens ธรรมดาสร้างขึ้นมา ไม่ใช่ของวิเศษ สามารถถูกทำลายได้อยู่แล้ว และที่นักข่าวบอกว่ารถถัง T-90M ถูกทำลายที่เมือง “คาร์กิว” ผมก็ไม่รู้ว่าเมืองนี้อยู่ที่ไหน นักข่าวน่าจะสับสนุนระหว่างเมือง Kharkiv ของยูเครนกับเมือง Nizhny Tagil ซึ่งเป็นที่ตั้งบริษัท Uralvagonzavod ผู้ผลิตรถถังของรัสเซีย
ในบทความข้อ 16 นักข่าวบอกว่า “รถถังนี้ซึ่งถูกส่งไปประจำการใกล้กับเคียฟ เมื่อวันที่ 25 เมษายน” รอบนี้นักข่าวน่าจะสับสนระหว่างกรุง Kiev (Kyiv) และเมือง Kharkiv แถมไม่ได้เอะใจเลยว่ารัสเซียถอนทหารออกจากกรุง Kiev มาสักพักแล้ว
โอเคครับ ถือว่าเป็นเชิงอรรถประกอบบทความของสื่อไทยพอหอมปากหอมคอ ตอนแรกผมไม่คิดว่าจะเขียนได้ยาวขนาดนี้แต่อดไม่ได้จริงๆ
สวัสดี
10.05.2022
เห็นหลายสำนักลงกัน ผมนั่งขำเหมือนท่านเลย