การยกพลขึ้นบกที่เดียปป์ (Dieppe Raid) บทเรียนสำหรับวันดี-เดย์

ภาพรถหุ้มเกราะลาดตระเวน Daimler Dingo ของอังกฤษถูกทิ้งไว้บนชายหาดเดียปป์ เดือนสิงหาคม ค.ศ.1942
(Bundesarchiv, Bild 101I-362-2211-04 / Jörgensen / CC-BY-SA 3.0)

วันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1942 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งมีกองพลทหารราบที่ 2 ของแคนาดา (2nd Canadian Division) เป็นหัวหอก สนับสนุนโดยกองทัพเรือและกองทัพอากาศอังกฤษ ได้ยกพลขึ้นบกที่เมืองเดียปป์ (Dieppe) เมืองท่าเล็กๆทางเหนือของฝรั่งเศสซึ่งอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพเยอรมัน ในชื่อปฏิบัติการจูบิลี (Operation Jubilee) มีจุดประสงค์เพื่อทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกของฝ่ายสัมพันธมิตร ทดสอบประสิทธิภาพแนวป้องกันของทหารเยอรมัน รวมถึงเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและประกาสจุดยืนทางการเมืองว่าประเทสสัมพันธมิตรตะวันตกพร้อมจะเปิดแนวรบที่สอง โจมตีเยอรมนีจากทางทิศตะวันตก เพื่อลดแรงกดดันต่อสหภาพโซเวียตที่กำลังถูกกองทัพเยอรมันโจมตีอย่างหนักอยู่ในขณะนั้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากยุทธวิธีที่ผิดพลาด และการสนับสนุนทางเรือและทางอากาศที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ปฏิบัติการกลายเป็นหายนะ และกำลังพลที่ยกพลขึ้นบกโดยเฉพาะทหารแคนาดาได้รับความสูญเสียอย่างหนัก

การที่ฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินใจเปิดปฏิบัติการจูบิลีมีขึ้นจากหลายสาเหตุ สาเหตุแรกสุดเกิดจากการที่อังกฤษต้องการทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก โดยอังกฤษได้เริ่มเตรียมการไว้ตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ.1941 อาศัยจังหวะที่กองทัพเยอรมันทุ่มกำลังส่วนใหญ่เข้าไปในสหภาพโซเวียต โดยในช่วงแรกอังกฤษเล็งเป้าหมายที่เมืองท่าเลออาฟวร์ (Le Havre) แต่ต่อมาได้เปลี่ยนไปเป็นเมืองเดียปป์แทน

กองทัพอากาศอังกฤษ (Royal Air Force) ก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันปฏิบัติการนี้เช่นกัน เนื่องจากในช่วงหลังยุทธเวหาเหนือเกาะอังกฤษ (Battle of Britain) ในปี ค.ศ.1940 กองทัพอากาศอังกฤษก็เริ่มเป็นฝ่ายส่งเครื่องบินรบออกไปโจมตีเยอรมนีบ้าง ปรากฏว่ากองทัพอากาศเยอรมัน (Luftwaffe) ไม่ยอมส่งเครื่องบินขับไล่ออกมาปะทะกับเครื่องบินรบอังกฤษที่บริเวณช่องแคบอังกฤษ (English Channel) หรือบริเวณชายฝั่งฝรั่งเศส แต่จะปล่อยให้เครื่องบินขับไล่อังกฤษบินลึกเข้าไปในแผ่นดินก่อนส่งผลให้อังกฤษเสียเปรียบเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการย้อนศรยุทธวิธีจากช่วงยุทธเวหาเหนือเกาะอังกฤษนั่นเอง นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวกองทัพอากาศเยอรมันยังได้รับมอบเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่คือ Focke-Wulf Fw 190 เข้าประจำการแล้ว ส่งผลให้กองทัพอากาศอังกฤษประสบความสูญเสียอย่างหนัก ต่อมาเมื่อกองทัพอากาศอังกฤษทราบข้อมูลข่าวกรองว่ากองทัพเยอรมันให้ความสำคัญกับการป้องกันเมืองท่าของฝรั่งเศส จึงสนับสนุนปฏิบัติการยกพลขึ้นบกที่เมืองเดียปป์ เพื่อจะล่อเครื่องบินขับไล่เยอรมันออกมาปะทะกันบริเวณชายฝั่ง ลดความได้เปรียบของฝ่ายเยอรมันลงนั่นเอง

นอกจากแรงผลักดันของกองทัพอังกฤษเองแล้ว ยังมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากในช่วงเวลานั้นสหภาพโซเวียตกำลังถูกกองทัพเยอรมันบุกโจมตีอย่างหนัก แม้ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1941 กองทัพเยอรมันจะประสบความล้มเหลวในการบุกกรุงมอสโกในปฏิบัติการไต้ฝุ่น (Operation Typhoon) แต่ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1942 กองทัพเยอรมันก็เปิดฉากการรุกใหญ่ทางใต้ของรัสเซียอีกครั้งในชื่อแผนน้ำเงิน (Case Blue) มุ่งหน้าไปยังแหล่งน้ำมันแถบเทือกเขาคอเคซัสและเมืองสตาลินกราด โซเวียตจึงเรียกร้องให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเปิดแนวรบที่สองในยุโรปตะวันตก เพื่อดึงกำลังพลบางส่วนของเยอรมันออกไปจากสหภาพโซเวียต ลดแรงกดดันในแนวรบด้านตะวันออก

จากปัจจัยเหล่านี้เอง อังกฤษจึงเตรียมร่างปฏิบัติการรุทเทอร์ (Operation Rutter) ยกพลขึ้นบกที่เมืองเดียปป์ โดยใช้กำลังพลจากกองพลทหารราบที่ 2 ของแคนาดาเป็นหัวหอกหลัก สนับสนุนโดยหน่วยคอมมานโด, กองทัพเรือ และกองทัพอากาศอังกฤษ สาเหตุที่เลือกใช้ทหารแคนาดา เป็นเพราะขณะนั้นกองทัพแคนาดาแทบไม่ได้มีส่วนร่วมปฏิบัติการในสมรภูมิไหนเลย ยกเว้นการรบกับญี่ปุ่นบนเกาะฮ่องกง (Battle of Hong Kong) ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1941 จึงมีแรงกดดันทางการเมืองให้ทหารแคนาดามีโอกาสทำผลงานบ้าง

กองพลทหารราบที่ 2 ของแคนาดาเข้ารับการฝึกสำหรับปฏิบัติการรุทเทอร์เป็นเวลา 3 เดือนระหว่างช่วงเดือนเมษายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1942 แต่เมื่อถึงช่วงใกล้ปฏิบัติการ กองเรือที่กำลังรวมพลกันได้ถูกเครื่องบินรบเยอรมันตรวจพบเข้า ประกอบกับสภาพอากาศไม่ดี ปฏิบัติการรุทเทอร์จึงถูกยกเลิกไปในวันที่ 7 กรกฎาคม หลังจากนั้นก็มีการแก้ไขกำหนดการยกพลขึ้นบกใหม่เป็นวันที่ 19 สิงหาคม ชื่อปฏิบัติการจูบิลี

ฝ่ายสัมพันธมิตรเตรียมกำลังพลประมาณ 10,500 นายสำหรับปฏิบัติการจูบิลี ในจำนวนนี้เป็นทหารที่จะยกพลขึ้นบกประมาณ 6,000 นาย มีทหารแคนาดา 4,963 นาย ทหารอังกฤษ 1,075 นาย สมทบด้วยทหารสหรัฐฯและฝรั่งเศสเสรีอีกจำนวนหนึ่ง สนับสนุนโดยรถถัง Churchill จำนวน 58 คัน ลำเลียงข้ามช่องแคบโดยกองเรือ 237 ลำ ส่วนใหญ่เป็นเรือลำเลียงพลและเรือยกพลขึ้นบก มีเรือพิฆาตชั้น Hunt สนับสนุนการยกพลขึ้นบกเพียง 6 ลำ แต่ละลำติดอาวุธปืนเรือขนาด 102 มิลลิเมตร 4 กระบอกเท่านั้น ไม่มีเรือรบขนาดใหญ่อย่างเรือประจัญบาน หรือเรือลาดตระเวนประจัญบานสนับสนุนเลย เนื่องจากกองทัพเรืออังกฤษไม่อยากเสี่ยงส่งเรือรบขนาดใหญ่เข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการของกองทัพอากาศเยอรมัน กลัวจะซ้ำรอยเรือประจัญบานรีพัลส์ (HMS Repulse) และเรือประจัญบานปรินซ์ออฟเวลส์ (HMS Prince of Wales) ที่ถูกเครื่องบินรบญี่ปุ่นจมนอกชายฝั่งมาลายาในเดือนธันวาคม ค.ศ.1941 ในส่วนของกองทัพอากาศอังกฤษได้จัดเครื่องบินรบไว้ 74 ฝูงบินสำหรับปฏิบัติการนี้ มีเครื่องบินรบทุกชนิดรวมกันประมาณ 1,000 ลำ

ภาพรังปืนกล MG 34 ของทหารเยอรมันที่เมืองเดียปป์ เดือนสิงหาคม ค.ศ.1942
(Bundesarchiv, Bild 101I-291-1213-34 / Müller, Karl / CC-BY-SA 3.0)

ด้านฝ่ายเยอรมันที่ป้องกันเมืองเดียปป์มีกำลังพลประมาณ 1,500 นายจากกองพลทหารราบที่ 302 แม้กองพลนี้จะถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อใช้ควบคุมพื้นที่ยึดครองในฝรั่งเศสเท่านั้นและขาดแคลนยานพาหนะ แต่เนื่องจากฝ่ายเยอรมันได้รับการแจ้งเตือนจากสายลับสองหน้าชาวฝรั่งเศส รวมถึงสามารถดักจับสัญญาณสื่อสารของฝ่ายสัมพันธมิตรได้ ทหารเยอรมันจึงได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า มีปืนใหญ่ตั้งคุมพื้นที่ชายหาดอยู่ ทหารเยอรมันยังได้รับการสนับสนุนจากเครื่องบินขับไล่ประมาณ 120 ลำ ส่วนใหญ่เป็น Fw 190 และเครื่องบินทิ้งระเบิดประมาณ 100 ลำ ส่วนใหญ่เป็น Dornier Do 217

ช่วงหลางคืนระหว่างวันที่ 18 – 19 สิงหาคม อังกฤษก็ส่งเรือรบผิวน้ำออกลาดตระเวนในช่องแคบอังกฤษ ก่อนจะส่งเครื่องบินรบออกลาดตงระเวนอีกครั้งในช่วงเช้ามืด ขณะเดียวกันกองเรือยกพลขึ้นบกก็แล่นออกจากท่า โดยมีเรือกวาดทุ่นระเบิดเคลียร์เส้นทางให้ ฝ่ายสัมพันธมิตรแบ่งพื้นที่หัวหาดที่จะยกพลขึ้นบกเป็น 6 ส่วน เรียงจากทิศตะวันตกไปตะวันออกได้แก่หาดส้ม (Orange Beach), หาดเขียว (Green Beach), หาดขาว (White Beach), หาดแดง (Red Beach), หาดน้ำเงิน (Blue Beach) และหาดเหลือง (Yellow) โดยหาดส้มและหาดเหลืองซึ่งอยู่ทางปีกทั้งสองข้างนั้นหน่วยคอมมานโดอังกฤษจะยกพลขึ้นบกเพื่อทำลายฐานปืนใหญ่ของเยอรมันที่ตั้งคุมชายหาดเดียปป์อยู่ ส่วนหาดตรงกลางทั้ง 4 แห่งนั้นเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของทหารแคนาดา

คอมมานโดอังกฤษจะเป็นหน่วยแรกที่จะยกพลขึ้นบกเพื่อทำลายฐานปืนใหญ่เยอรมัน แต่ทว่าขณะที่ขบวนเรือลำเลียงของอังกฤษมุ่งหน้าเข้าหาหาดเหลืองทางตะวันออกนั้น ได้เกิดปะทะกับกองเรือผิวน้ำขนาดเล็กของเยอรมันซึ่งมีเรือเร็วตอร์ปิโด Schnellboot (S-Boot) หรือที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกว่า E-Boat รวมอยู่ด้วย ส่งผลให้เรือยกพลขึ้นบกของอังกฤษบางส่วนถูกจมด้วยตอร์ปิโด นอกจากนี้เสียงการปะทะกันยังดังไปถึงชายฝั่งส่งผลให้ทหารเยอรมันบนฝั่งรู้ตัว เมื่อคอมมานโดอังกฤษชุดแรกลำเลียงมาโดยเรือยกพลขึ้นบก 6 ลำพยายามบุกขึ้นฝั่งในส่วนที่เรียกว่า Yellow One ก็ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้ ขณะที่คอมมานโดอีกชุดหนึ่งจำนวน 18 นายยกพลขึ้นบกในพื้นที่ที่เรียกว่า Yellow Two สามารถเข้าประชิดฐานปืนใหญ่ของเยอรมันได้แล้วระดมยิงปืนเล็กใส่ แม้จะไม่สามารถทำลายปืนใหญ่เยอรมันได้ แต่ก็ช่วยรบกวนไม่ให้พลปืนใหญ่เยอรมันทำการยิงต่อต้านการยกพลขึ้นบกได้เต็มประสิทธิภาพ

แม้ปฏิบัติการของหน่วยคอมมานโดอังกฤษที่หาดเหลืองจะล้มเหลว ไม่สามารถทำลายป้อมปืนใหญ่เยอรมันได้ แต่ปฏิบัติที่หาดส้มประสบความสำเร็จงดงาม ตอมมานโดอังกฤษสามารถทำลายปืนใหญ่ขนาด 150 มิลลิเมตรของเยอรมันได้ 6 กระบอก ก่อนจะถอนกำลังกลับไป

ภาพร่างของทหารแคนาดาที่เสียชีวิตเกลื่อนชายหาดเมืองเดียปป์
(Bundesarchiv, Bild 101I-291-1230-13 / Meyer; Wiltberger / CC-BY-SA 3.0)

ที่หาดน้ำเงิน ทหารแคนาดามาถึงชายฝั่งล่าช้ากว่ากำหนดหลังพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ความมืดเป็นฉากอำพรางได้ นอกจากนี้เช่นเดียวกับที่หาดเหลือง ทหารเยอรมันบนฝั่งได้ยินเสียงเรือรบปะทะกันในทะเลจึงเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า ทหารแคนาดาที่ยกพลขึ้นบกที่หาดน้ำเงินติดอยู่ที่ชายฝั่ง ไม่สามารถบุกผ่านแนวป้องกันของเยอรมันได้

ที่หาดเขียว เรือยกพลขึ้นบกของทหารแคนาดาบางส่วนถูกคลื่นซัดออกนอกเส้นทาง ส่งผลให้ทหารจำนวนมากขึ้นฝั่งคนละฟากของแม่น้ำ Scie ที่มีสะพานข้ามเพียงแห่งเดียว จึงเป็นการง่ายสำหรับทหารเยอรมันที่จะป้องกันพื้นที่ด้วยปืนกลและปืนใหญ่ต่อสู้รถถังที่ตั้งคุมสะพานอยู่ ทหารแคนาดาไม่สามารถบุกไปถึงที่หมายได้และต่อมาก็ถูกผลักดันถอยร่นโดยกำลังเสริมของทหารเยอรมัน

ที่หาดขาวและหาดแดงซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการหลักอยู่ตรงกับเมืองเดียปป์พอดี รถถัง Churchill มาถึงชายหาดช้ากว่ากำหนด ส่งผลให้ทหารราบแคนาดาต้องเข้าตีที่มั่นของทหารเยอรมันซึ่งตั้งอยู่บนที่สูงโดยไม่มียานเกราะสนับสนุน และประสบความสูญเสียอย่างหนัก เมื่อรถถังมาถึง ปรากฏว่ามีรถถังยกพลขึ้นบกจริงเพียง 29 คันจากที่วางแผนไว้เดิม 58 คัน ในจำนวนนี้ 2 คันจมน้ำก่อนถึงฝั่ง 12 คันขึ้นฝั่งแล้วติดหล่มบนหาดทราย มีเพียง 15 คันที่แล่นผ่านชายหาดไปได้แต่แล้วก็เจอกับเครื่องกีดขวางจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าไปในเมืองเดียปป์ได้ ต่อมาเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินใจถอนกำลังกลับ รถถังเหล่านี้ก็หันหลังกลับไปคุ้มกันทหารราบบนชายฝั่ง ไม่มีคันไหนกลับถึงอังกฤษ

ภาพทหารแคนาดาที่ได้รับบาดเจ็บนอนอยู่หน้าซากรถถัง Churchill และเรือยกพลขึ้นบกบนชายหาดเมืองเดียปป์
(Bundesarchiv, Bild 101I-291-1205-14 / Koll / CC-BY-SA 3.0)

ปฏิบัติการยกพลขึ้นบกที่เดียปป์กลายเป็นหายนะ กองพลทหารราบที่ 2 ของแคนาดาประสบความสูญเสียอย่างหนัก จากกำลังพลที่ยกพลขึ้นบกประมาณ 6,000 นาย เสียชีวิต 907 นาย บาดเจ็บ 2,460 นาย ถูกจับเป็นเชลย 1,946 นาย หน่วยคอมมานโดอังกฤษเสียกำลังพลไป 247 นายจากทั้งหมดประมาณ 1,000 นาย กองทัพเรืออังกฤษเสียเรือพิฆาต 1 ลำและเรือยกพลขึ้นบก 33 ลำ มีลูกเรือเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวม 550 นาย กองทัพอากาศอังกฤษเสียเครื่องบินรบไป 106 ลำ ส่วนฝ่ายเยอรมันมีทหารเสียชีวิต 322 นาย บาดเจ็บ 280 นาย กองทัพอากาศเยอรมันเสียเครื่องบินรบไป 48 ลำ กองทัพเรือเยอรมันเสียเรือตรวจการณ์ 1 ลำ

แม้การยกพลขึ้นบกที่เดียปป์จะประสบความล้มเหลว แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้รับบทเรียนที่มีค่าหลายอย่างเช่นความสำคัญของการรักษาความลับ, การสนับสนุนทางเรือและทางอากาศ, การหลีกเลี่ยงการโจมตีเมืองท่าที่มีการป้องกันแน่นหนา เป็นต้น ซึ่งบทเรียนเหล่านี้จะถูกใช้ในการยกพลขึ้นบกในวันดี-เดย์ (D-Day) ที่ชายหาดนอร์มังดีในอีกสองปีต่อมา

สวัสดี

10.05.2022

แสดงความคิดเห็น